หน้าแรก



จะคลอดแบบไหนดี

การคลอดจะมีสองวิธีคือ การคลอดทางช่องคลอด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าคลอดธรรมชาติ และการคลอดโดยการผ่าตัดคลอด โดยการคลอดแต่ละแบบจะมีผลดีและผลเสียต่อสุขภาพของแม่และทารกที่แตกต่างกันออกไป

ในปัจจุบันแม้ว่าทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่พอจะทราบถึงผลเสียของการผ่าตัดคลอด แต่อัตราการผ่าตัดคลอดทั่วทั้งโลกกลับค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมักจะมาจากเหตุผลด้านความสะดวกสบายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางการแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้เว็บไซต์ “คลอดปลอดภัย” โดยการสนับสนุนภายใต้โครงการวิจัย QUALI-DEC จึงต้องการนำเสนอมุมมองผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าวิธีไหมคือการคลอดที่ดีที่สุด คลอดปลอดภัยที่สุด

คลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอด: ตัดสินใจอย่างไรดี

การคลอดลูกเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญและน่าจดจำที่สุดสำหรับชีวิตของผู้หญิง และเป็นเรื่องที่ควรจะได้รับข้อมูลและศึกษาในรายละเอียดตั้งแต่ก่อนจะถึงกำหนดคลอดเพื่อการคลอดที่ปลอดภัย หลายคนจะตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบว่าจะคลอดทางช่องคลอด (หรือคลอดธรรมชาติ) หรือควรจะ ผ่าตัดคลอด ควรจะเลือกวิธีไหนดี

เว็บไซต์คลอดปลอดภัยนี้ ได้เตรียมข้อมูลที่ประกอบไปด้วยหลักฐานจากงานวิจัยทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อคุณแม่ที่กำลังจะเตรียมคลอดได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด

ดาวน์โหลด “คู่มือผู้คลอด” (DAT) ได้ ที่นี่

สแกน qr code คู่มือผู้คลอด

คุณสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น QUALI-DEC (คู่มือผู้คลอด DAT Application) เพื่อติดตั้งในสมาร์โฟนของคุณได้แล้วโดยการสแกน QR Code นี้

อ่าน “คู่มือผู้คลอด” ฉบับ DAT Flipbook ออนไลน์

Myanmar DAT Flipbook is also available, click HERE.

คู่มือผู้คลอด” ฉบับหนังสือเสียง (DAT Audiobook)

Myanmar DAT Audiobook is also available, click HERE.

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง

ข่าวสารที่น่าสนใจ

8 ตุลาคม 2567

ดร. อเล็กซานเดอร์ ดูมองท์ (สูตินรีแพทย์ ผู้อำนวยการวิจัยที่ IRD นักวิจัยด้านระบาดวิทยาที่ Ceped-Université Paris Cité และผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการ Quali-Dec [คลอดปลอดภัย]) ประเทศฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการวิจัย โดยตีพิมพ์บทความใน LIEPP – Laboratoire Interdisciplinaire d’Evaluation des Politiques Publiques (แพลตฟอร์มงานวิจัยของ Sciences Po)

เนื้อหาของบทความนี้ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การผ่าตัดคลอดที่สูงขึ้นอย่างมากจนน่าตกใจทั่วโลก โดยนับเป็นหนึ่งใน “วิกฤตสุขภาพ” โลกในขณะนี้

โดยดร. อเล็กซานเดอร์ ดูมองท์ ผู้ประสานงานหลักของโครงการวิจัยนานาชาติ QUALI-DEC (คลอดปลอดภัย) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของโครงการวิจัยในระดับนานาชาตินี้ ว่าได้รับการวางแผนออกแบบ จัดหาเงินทุน และดำเนินการมาอย่างไรใน 4 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย

การผ่าตัดคลอดที่เพิ่มสูงมากจนน่ากังวลนี้นับว่าเป็นวิกฤตสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะอัตราการผ่าตัดคลอดได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากตั้งแต่ทศวรรษ 1990 จนปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดโดยรวมของโลกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 23% โดยสูงต่ำแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ

WHO ประมาณการว่าเมื่อการผ่าตัดคลอดสูงเกินกว่า 15% นั่นอาจหมายถึงว่าการผ่าตัดคลอดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การผ่าตัดที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงในทางการแพทย์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงทั้งด้านสุขภาพของมารดาและทารก และการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างสูญเปล่า

การผ่าตัดคลอดยังคงเป็นหัตถการทางการแพทย์ที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงเพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าทั้งสำหรับมารดาและทารกเมื่อเทียบกับการคลอดทางช่องคลอด อาทิเช่น เสี่ยงที่จะมีภาวะเลือดออกมากขึ้น เกิดปัญหาเรื่องภาวะแทรกซ้อนเรื่องการหายใจที่ลำบากในทารกแรกเกิดมากขึ้น และมีภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตมากขึ้น

แต่ในปัจจุบันด้วยหลายเหตุผล รวมถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม การผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น แพทย์ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเมื่อทำการผ่าตัดคลอด และสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ทำให้จัดการเวลาได้ง่ายกว่า ทำให้แพทย์มีแนวโน้มที่จะเลือกทำการผ่าตัดคลอด แต่การผ่าตัดนี้ควรทำเมื่อจำเป็น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนหรือประสิทธิภาพของบุคลากรทางการพยาบาล

โดยงานวิจัยนี้ได้มีผลกระทบที่เป็นรูปธรรมในแง่ของนโยบายสุขภาพ เพื่อช่วยลดจำนวนการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ โดยช่วยให้สตรีมีครรภ์และบุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสม และใช้การผ่าตัดคลอดอย่างเหมาะสม

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่

=>https://www.sciencespo.fr/liepp/fr/actualites/reduire-la-pratique-des-cesariennes-inutiles-le-projet-quali-dec/

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัย QUALI-DEC ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของเราได้ที่ qualidec.com/en/home-en

และเข้าถึง MOOC ของเรา: mooc.qualidec.com

เกี่ยวกับ LIEPP: Laboratoire Interdisciplinaire d’Evaluation des Politiques Publiques เป็นแพลตฟอร์มวิจัยของ Sciences Po ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนการลงทุน France 2030 ผ่าน IdEx Université Paris Cité ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยร่วมมือกับ Université Paris Cité มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแนวทางทางวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการในการประเมินนโยบายสาธารณะ (โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข) การวิจัยที่ดำเนินการที่ LIEPP วิเคราะห์การทำงานและผลกระทบของนโยบายสาธารณะหลายด้าน LIEPP ใช้แนวทางนวัตกรรมในการวิจัยเชิงประเมินผล โดยผสมผสานวิธีการเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงเปรียบเทียบ และรวมความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงกับความกังวลในการเผยแพร่และแปลผลการวิจัยให้กับผู้เล่นสาธารณะ: sciencespo.fr/liepp/en

26 กันยายน 2567

ทำไมคุณแม่ชาวญี่ปุ่นนิยมคลอดธรรมชาติ

อัตราการผ่าตัดคลอดที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงอยู่ที่ประมาณ 20% ในขณะที่ประเทศอื่นกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำไมประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีองค์ความรู้ทางการแพทย์ทันสมัยและก้าวหน้า จึงยังคงมีอัตราการผ่าตัดคลอดที่ต่ำ และสตรีตั้งครรภ์ชาวญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดมากกว่าผ่าตัดคลอด

มาดูปัจจัยที่ส่งผลให้การคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดยังเป็นที่นิยมมากกว่าการผ่าตัดคลอดในประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ

ที่มา: Source: “Childbirth in Japan”, Childbirth Across Cultures: Ideas and Practices of Pregnancy, Childbirth and the Postpartum, 2009

และ “The influence of women’s fear, attitudes and beliefs of childbirth on mode and experience of birth” ( https://bmcpregnancychildbirth.biomedcentral.com/…/1471… )

24 กันยายน 2567

งานวิจัยที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก เรื่อง “Association between caesarean section and childhoodobesity: a systematic review and meta-analysis” (2015) เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ชี้ถึงผลที่ตามมาของการผ่าตัดคลอด ว่ามีความเสี่ยงที่เด็กจะโตขึ้นมาเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดโดยการคลอดทางช่องคลอด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าน้ำหนักของแม่ก่อนการตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเสี่ยงนี้ รวมถึงสภาพชีวิตและการเลี้ยงดูในช่วงต้นของเด็กด้วย

ที่มา: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/obr.12267 (Association between caesarean section and childhoodobesity: a systematic review and meta-analysis)

10 กันยายน 2567

การประชุมเครือข่ายเพื่อการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ได้จัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2567 ณ ไทยพีบีเอส กรุงเทพมหานคร

โดยเป็นการรวมตัวของแนวร่วมเครือข่ายผู้มีบทบาทที่สำคัญการตั้งเป้าหมายเพื่อการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยการประชุมเครือข่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนสียในการแก้ไขปัญหาการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่สูงเกินความจำเป็น และเพื่อกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ ละแผนการดำเนินงานที่ ที่ชัดเจนในการลดอัตราการผ่าตัดคลอดในประเทศไทย

การประชุมเครือข่ายในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสุขภาพต่าง ๆ ทั้ง WHO South-East Asia ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กรมการแพทย์ HITAP ไทยพีบีเอส และคุณแม่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มาร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถมองต้นตอของปัญหาได้รอบด้านและครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การวางกลยุทธ์เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุดต่อไป

27 สิงหาคม 2567

👍🥳 มาฟัง ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) และอดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรแพทย์แห่งประเทศไทย พูดถึงการคลอดทั้งสองแบบในทุกแง่มุม

ปัจจัยที่ทำให้การผ่าตัดคลอดสูงขึ้น

– ผลกระทบทางสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดขึ้นทั้งกับแม่และทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอด

– ความสำคัญของการมีเพื่อนผู้คลอดเข้าไปช่วยเหลือและให้กำลังใจคุณแม่ในห้องคลอด

ขอขอบพระคุณ #ThaiPBS ที่ร่วมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการคลอดที่ปลอดภัย เพื่อที่คุณแม่และครอบครัวจะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยงกับการคลอดทั้งสองแบบค่ะ

23 สิงหาคม 2567

มาฟังความรู้สึกของคุณแม่มือใหม่กับการเตรียมตัวรับมือกับ “ด่านยาก” ของการตั้งครรภ์คือการคลอด โดยเฉพาะการคลอดธรรมชาติ

คุณแม่รุ่นใหม่หลายท่านมีการเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อมูลมาแล้วเป็นอย่างดี ทราบว่าการคลอดธรรมชาติจะมีผลดีต่อการฟื้นตัวของคุณแม่ และสุขภาพในระยะยาวของลูกน้อยมากกว่า

แต่ถึงกระนั้นก็อาจจะต้องมองหาคุณหมอที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือให้คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างราบรื่น เพราะในปัจจุบันก็มีคุณหมออีกหลายท่านที่สะดวกที่จะเลือกผ่าตัดคลอดมากกว่าเพราะสามารถจัดการเวลาส่วนตัวได้ง่ายกว่า

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก #ThaiPBS ด้วยค่ะ

ที่มา: สกู๊ปข่าว ไทยพีบีเอส “คุณแม่มือใหม่รับ “ด่านยาก” คือ “การคลอด”

21 สิงหาคม 2567

“เพื่อนผู้คลอด” เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่โครงการวิจัยคลอดปลอดภัย (Quali-Dec) รวมไปถึงองค์การอนามัยโลกให้การสนับสนุน

การคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ต้องการกำลังใจมากที่สุด การมีเพื่อนผู้คลอด (Labour Companion หรือ Birth Partner) ผู้ซึ่งคุณแม่ไว้วางใจเข้าไปคอยให้กำลังใจระหว่างที่รอคลอด จะช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้คุณแม่ได้อย่างมาก

การมีเพื่อนผู้คลอด ที่คุณแม่ได้เลือกเองนี้ ยังส่งผลให้การคลอดธรรมชาติเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้นด้วย

ขอบพระคุณ #ThaiPBS สำหรับสกู๊ปข่าวเรื่องเพื่อนผู้คลอดค่ะ

20 สิงหาคม 2567

Together We Can! 💪🙏🥳

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเพื่อเตรียมข้อมูลและกำหนด Agenda เพื่อการประชุมผลักดันโครงการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นกับหน่วยงานเครือข่ายได้แก่ HITAP และ ThaiPBS

การประชุมเตรียมงานในครั้งนี้ นำโดยกระบวนกรผู้มีความรู้ในการทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการและการระดมความคิด เพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาเรื่องการผ่าตัดคลอดที่ไม่มีความจำเป็นในประเทศไทย วางแผนผลักดันโครงการเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การประชุมเครือข่ายที่จะมาถึงในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า

ขอขอบพระคุณ #HITAP และ #ThaiPBS เป็นอย่างสูงที่เห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องการผ่าตัดคลอดที่สูงเกินความจำเป็นในประเทศไทย อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารก รวมไปถึงก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตามมา และพร้อมให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ให้เป็นที่รับรู้ต่อไปในวงกว้างค่ะ 🤝👏

19 สิงหาคม 2567

ขอแสดงความยินดี 🥳👍กับ พว. ลัดดาภรณ์ ชินทอง และทีมงานห้องคลอดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” (Labour Companionship Program) ในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2567 ที่จัดโดยสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 16 สิงหาคม 2567

ขอร่วมแสดงความยินดีกับทีมงานห้องคลอดคุณภาพที่ภาคภูมิใจของโครงการคลอดปลอดภัย Quali-Dec ของเราด้วยค่าาา 🥳👍😍👏👏👏

17 สิงหาคม 2567

จุลินทรีย์ดีจากการคลอดธรรมชาติ

การคลอดผ่านทางช่องคลอดของแม่ตามธรรมชาติ ทำให้ทารกได้รับจุลินทรีย์ที่ดี ที่ช่วยปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ตั้งแต่แรกเกิด ทารกที่เกิดจากการคลอดธรรมชาติจึงมักจะมีสุขภาพในระยะยาวดีกว่าทารกที่เกิดจากการผ่าตัดคลอด

จากรายการ On the Way with Chom Ep. 5 (ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=qJY2VsGiYRM&t=358s)

16 สิงหาคม 2567

คุณมิว นิษฐา ดาราสาวสวยคุณแม่ลูกสอง แชร์ประสบการณ์และความประทับใจของการให้กำเนิดลูกน้อยทั้งสองคนด้วยวิธีการคลอดธรรมชาติค่ะ

สำหรับคุณมิวแล้วการคลอดธรรมชาติไม่ได้น่ากลัว แต่ความเป็นธรรมชาติกลับสร้างความประทับใจที่น่ามหัศจรรย์ให้กับคุณแม่และทารกน้อยอย่างไม่คาดคิด

ที่มา: รายการแฉ วันที่ 14 ส.ค. 67 “มิว นิษฐา” คุณแม่ลูก 2 ที่มีความสุขที่สุด เผยคลอดธรรมชาติทุกคน

15 สิงหาคม 2567

เมื่ออัตราการเกิดน้อยอยู่แล้ว เราก็ควรต้องเพิ่มคุณภาพให้ประชากรตั้งแต่แรกเกิด

การคลอดธรรมชาติ ช่วยเอื้อให้การตั้งครรภ์หลายครั้งปลอดภัยมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบที่จะอาจตามมาจากการผ่าตัดคลอด

💡ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลง คุณแม่ยุคใหม่ช่วยอะไรได้บ้าง?

จากการสำรวจ สถานะขึ้นทะเบียนราษฎร์ของสำนักบริหารทะเบียนกรมการปกครองของคนไทย และผลการวิเคราะห์ที่ประมวลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 – 2566) พบว่า จาก 11.6 คนต่อประชากรหนึ่งพันคนในปีพ.ศ. 2556 เป็น 7.4 คนต่อประชากรหนึ่งพันคนในปีพ.ศ. 2565 โดยกราฟดังรูป แสดงจำนวนการเกิดของเด็กที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

จำนวนการเกิดของประชากรที่ลดลงส่งผลให้สัดส่วนของประชากรในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น (กลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี) มีจำนวนลดลงจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 22 ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุในไทยที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 20 ในปีพ.ศ. 2556 และ 2566 ตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเด็กเกิดใหม่น้อยลง

ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง แต่ไทยเรากลับมีอัตราการคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นมากขึ้น ซึ่งนับเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกน้อยในระยะยาว เพราะการผ่าคลอด ทำให้ลูกน้อยไม่มีโอกาสได้รับภูมิคุ้มกันจากแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดแม่ เด็กมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่แข็งแรง อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นั่นหมายถึงคุณภาพของประชากรและเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อคุณแม่ยุคใหม่หันมาเลือกคลอดตามธรรมชาติให้เป็นเรื่องปกติ มั่นใจได้เลยว่าลูกน้อยจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดอย่างภูมิคุ้มกันจากแม่ และลดโอกาส ลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพในระยะยาวของลูกได้อย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนี้ แม้อัตราการเกิดของเด็กไทยอาจไม่พุ่งขึ้นสูงจนเป็นที่น่าพอใจ แต่เชื่อมั่นได้ว่าสังคมไทยจะมีประชากรรุ่นใหม่ที่ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพียงเริ่มต้นจากการเลือกคลอดธรรมชาติจากคุณแม่ยุคใหม่นั่นเอง

13 สิงหาคม 2567

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ ThaiPBS เรื่องผลกระทบจากการผ่าตัดคลอด

การคลอดบุตรมีทางเลือกทั้งการคลอดเองหรือผ่าตัดคลอด ซึ่งปัจจุบัน เกือบครึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์เลือกที่จะ “ผ่าคลอด” แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์จะพยายามให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็น รวมถึงยังเกิดความเสี่ยงต่อแม่และลูกมากกว่าคลอดธรรมชาติ

ผลต่อแม่: ภาวะแทรกซ้อนมากกว่าเมื่อเทียบกับการคลอดทางช่องคลอด เพิ่มภาวะรกฝั่งแน่นในท้องถัดไปถึง 8 เท่า ซึ่งอาจทำให้มารดาตกเลือดภึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจพบผังผืดในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นทำให้หากต้องได้รับการผ่าตัดในช่องท้องจะพบภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขี้นได้

ผลต่อลูก: เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดภาวะหายใจลำบากในทารกแรกเกิด ทารกอาจต้องเข้า NICU แม่ไม่ได้แนบชิดกับลูกและให้นมทันทีหลังคลอดทำให้ลดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ ระยะยาวมีการศึกษาพบว่าพบอุบัติการณ์โรคอ้วนและเบาหวานเพิ่มขี้นด้วย

ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แม่ ๆ จะอยากคลอดทางช่องคลอดกันมาก เพราะทราบถึงข้อดีของการคลอดทางช่องคลอด และ ถ้าผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ประกันสุขภาพอาจไม่จ่าย ดาราในไทยหลายท่าน ก็มีที่เป็นตัวอย่างที่เลือกการคลอดทางช่องคลอดให้เราเห็น

คุณแม่หลายท่านอาจจะกลัวความเจ็บปวดในการคลอดธรรมชาติ ลองปรึกษาสูติแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องทางเลือกของการใช้ยาระงับปวดระหว่างการคลอดธรรมชาติ (ซึ่งมีทางเลือกมากขึ้น) ได้ด้วย

12 สิงหาคม 2567

มอบของขวัญที่ดีที่สุดให้ลูกน้อยตั้งแต่วันแรก ด้วยการคลอดธรรมชาติ

การคลอดธรรมชาติเป็นการเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็วขึ้น พร้อมดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น และเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้ดีกว่าอีกด้วย

10 สิงหาคม 2567

🕒🤱🏻เวลาเกิดส่งผลกับชีวิตลูกได้ จริงหรือ⁉️
.
ครั้งเมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญของชีวิต คนไทยเรามักเลือกที่จะหาฤกษ์หรือสิ่งมงคลต่าง ๆ นำทาง เพื่อหวังให้เป็นการเริ่มต้นที่ดี ทั้งเสื้อสีมงคล เบอร์มงคล แต่งงานในฤกษ์มงคล จนครั้งมีลูก ก็อยากเลือกคลอดตาม “ฤกษ์คลอดมงคล” เพราะเชื่อว่า “หากลูกได้เกิดในวันฤกษ์ดีฤกษ์มงคล ลูกจะมีชีวิตที่ดีที่สุด”
.
“ไม่มีฤกษ์คลอดไหนที่ดีที่สุด ถ้าไม่ใช่ฤกษ์คลอดตามธรรมชาติ” ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างที่สุด ยังคง “ไม่มีงานวิจัยใดบนโลกรับรองว่า ฤกษ์เกิดที่ดีจะส่งผลให้เด็กมีชีวิตที่ดีด้วย” ทั้งการผ่าคลอด ยังมีข้อแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ของอเมริกา (ACOG Committee) แนะนำไว้ว่า หากผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือเลือกคลอดตามฤกษ์ (cesarean delivery on maternal request) ควรทำหลัง 39 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์เท่านั้น
.
หากมีการผ่าคลอดก่อน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของทารก เช่น ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ, การเกิดภาวะหายใจเร็วชั่วคราวในทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn; TTN) หรือที่เรียกว่าภาวะน้ำท่วมปอดในทารกแรกเกิด ซึ่งสามารถมีความรุนแรงถึงชีวิตได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อภาวะตัวเย็น (Hypothermia) และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่สามารถส่งผลต่อชีวิต หรือสุขภาพของทารกในอนาคตได้เช่นกัน
.
ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำว่า หากแม่ที่ตั้งครรภ์แสดงความประสงค์ผ่าคลอดตามฤกษ์ที่ต้องการ แพทย์ควรพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงทางสุขภาพของคุณแม่รายนั้น และถ้าหากไม่มีข้อบ่งชี้ แพทย์ควรแนะนำให้คลอดธรรมชาติเป็นอันดับแรก พร้อมชี้แจงข้อดี-ข้อเสียของการผ่าคลอด ก่อนที่จะเกิดการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น
.
“หยุดแลกชีวิตลูก ด้วยฤกษ์คลอดมงคล” เห็นได้ชัดว่า การผ่าคลอดตามฤกษ์มงคลที่ต้องการ โดยเฉพาะฤกษ์ที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 39 สัปดาห์ นอกจากจะไม่มีหลักฐานรับรองว่าจะช่วยให้ลูกมีชีวิตที่ดีในอนาคต เว้นแต่ความสบายใจของแม่และครอบครัว ยังเพิ่มความเสี่ยง

8 สิงหาคม 2567

เพราะสิ่งที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นวันแรกที่เขาลืมตา🌟

💡รู้หรือไม่? ว่าเพียงการเลือกวิธีการคลอดลูกให้ดี และเหมาะสม คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดชิ้นแรกที่ลูกจะได้รับจากมือคุณแม่ แล้วระหว่างการคลอดธรรมชาติ กับการผ่าคลอด วิธีการคลอดแบบไหนจะดีกว่ากัน? มาดูความแตกต่างทั้งในแง่ข้อดีและข้อเสียของการคลอดทั้ง 2 แบบกันเลย

🍼🟢ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

✔️ เสียเลือดน้อย มีแผลแค่เฉพาะภายนอก ฟื้นตัวได้เร็ว หลังคลอดเจ็บแผลน้อยกว่า สามารถดูแลและให้นมบุตรหลังคลอดได้เลย

✔️ เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อในมดลูก (endometritis) ต่ำ ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ การตกเลือดภายใน และการเกิดแผลเป็น

✔️ ไม่ทำให้เกิดพังผืดในช่องท้อง

✔️ เป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งออกซิโทซิน (oxytocin) ที่ซึ่งส่งเสริมการผลิตน้ำนมให้แก่บุตร

✔️ ทารกเจ็บป่วยน้อยกว่า เพราะได้รับภูมิคุ้มกันจากแบคทีเรียที่อยู่บริเวณช่องคลอด อีกทั้งยังได้รับการออกซิเจนที่ดีกว่าทั้งในด้าน สมองและด้านร่างกาย

✔️ ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการผ่าคลอด

🍼🔴ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ

✔️ กำหนดระยะเวลาคลอดล่วงหน้าไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทารก และใช้เวลานานราวหนึ่งชั่วโมง

✔️ เจ็บครรภ์ระหว่างรอคลอดนาน และเกิดความเจ็บปวดในขณะการคลอด

✔️ หากทารกมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเชิงกรานมารดาแคบอาจทำให้การคลอดติดขัดได้ ทารกอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากไหล่ติดหรือการคลอดด้วยเครื่องช่วย มีโอกาสใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีม หากมารดาหมดแรงเบ่ง

✔️ อาจเกิดการฉีกขาดในฝีเย็บ โดยแพทย์อาจทำการกรีดเปิดเพื่อช่วยในการคลอดทารก

✔️ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่คาดคิดได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายมารดา

✔️ มีความเสี่ยงต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และปัญหาการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอด เนื่องจากการอาจเกิดการฉีกขาดของฝีเย็บลึก

💉🟢ข้อดีของการผ่าคลอด

✔️ คุณแม่ไม่ต้องเจ็บปวดขณะคลอด

✔️ สามารถกำหนดวันคลอดได้ตามความเหมาะสมของอายุครรภ์

✔️ มีความปลอดภัยสูง

✔️ ลดความเสี่ยงสายสะดือถูกกดทับระหว่างทำคลอด

✔️ ลดการยืดหย่อนของเชิงกราน เนื่องจากไม่ต้องใช้แรงเบ่ง

✔️ ลดความเสี่ยงต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

✔️ สามารถทำหมันหลังคลอดได้เลย

💉🔴ข้อเสียของการผ่าคลอด

✔️ ค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องอาศัยความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง

✔️ เพิ่มความเสี่ยงต่อการตายและภาวะทุพพลภาพต่อมารดา ซึ่งมีอัตราการตายโดยรวมสูงกว่าการทำคลอดทางช่องคลอด

✔️ มีความเสี่ยงต่อการเสียเลือด และเสี่ยงต่อการดมยาสลบมากกว่า

✔️ ไม่สามารถให้นมบุตรได้ทันทีหลังคลอด ทำให้เริ่มต้นให้นมบุตรได้ล่าช้า

✔️ การนัดวันผ่า เพิ่มโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด และเพิ่มภาวะหายใจลำบาก RDS (Respiratory Distress Syndrome)

✔️ มีอาการปวดหลัง เจ็บปวดหลังคลอดนาน มีรอยแผลเป็นที่หน้าท้องมากกว่าแผลฝีเย็บ

✔️ เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดสูงกว่า เช่น ไข้ ติดเชื้อ ลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น

✔️ การผ่าตัดในท้องต่อไปสูงกว่า และยากกว่า เสี่ยงต่อมดลูกแตกในครรภ์ต่อไป โดยเฉพาะการผ่าท้องคลอดก่อน 2 ครั้ง

✔️ มีความเสี่ยงต่อการมีมดลูกแตกเป็น 5 เท่าของการผ่าตัดมาเพียงครั้งเดียว

✔️ เพิ่มภาวะแทรกซ้อนต่อครรภ์ต่อไปหลายประการ เช่น รกเกาะต่ำ รกติด ตกเลือดหลังคลอด

แม้การเลือกผ่าคลอดอาจมีแนวโน้มเจ็บปวดน้อยกว่า แถมยังสะดวกกว่าเพราะสามารถเลือกวางแผนวันที่ต้องการได้ เป็นเหตุของการดู “ฤกษ์งามยามดี”

แต่รู้ไหม? การเลือกคลอดโดยวิธีธรรมชาติ โดยไม่สนใจฤกษ์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ดีที่สุดทั้งต่อคุณแม่และคุณลูก ดังงานวิจัยที่พิสูจน์ไว้ให้แล้ว แต่จะพิสูจน์ในแง่มุมไหนบ้าง คลิกเพื่อหาคำตอบได้เลย >> https://www.hitap.net/documents/184063 และ https://www.hitap.net/188311

ทั้งนี้การคลอดแบบธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป การจะเลือกคลอดแบบใดนั้น ควรพึงพิจารณาตามสูตินารีแพทย์ประเมินและให้แนะนำ จึงจะเหมาะสมและดีที่สุด🌟

2 สิงหาคม 2567

โครงการ Quali-Dec คลอดปลอดภัย มาร่วมกิจกรรมออกบูธงานวันแม่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ. ขอนแก่น ในวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์โครงการและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการคลอดและข้อดีข้อเสียของการคลอดในแต่ละรูปแบบ

1 สิงหาคม 2567

ประสบการณ์การคลอดมีบทบาทสำคัญต่อจิตใจของแม่ผู้คลอด และมีผลกระทบที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกน้อย

การแทรกแซงทางการแพทย์หลายอย่างระหว่างการคลอด เช่น การกดบริเวณยอดมดลูก การตัดฝีเย็บ หรือการผ่าคลอดฉุกเฉิน อาจส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การคลอดของคุณแม่ได้

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากประเทศเยอรมนีได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการประเมินประสบการณ์การคลอดที่ลดลงจากการแทรกแซงทางการแพทย์ โดยได้สอบถามคุณแม่กว่าพันคน เกี่ยวกับประสบการณ์การคลอดของพวกเธอ

โดยทั่วไป คุณแม่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้ประเมินประสบการณ์การคลอดของพวกเธอในเชิงบวก โดยให้คะแนนเฉลี่ย 3.09 เต็ม 4 จากคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติโดยมีการแทรกแซงทางการแพทย์น้อย

ในขณะที่แม่ที่มีประสบการณ์การถูกกดยอดมดลูก การคลอดธรรมชาติทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ช่วย หรือการผ่าตัดคลอดฉุกเฉินที่ไม่ได้วางแผนไว้ ได้ให้คะแนนประสบการณ์การคลอดของพวกเธอต่ำกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติโดยไม่มีการแทรกแซงทางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญ

การผ่าคลอดที่ไม่ได้วางแผนนั้นได้รับคะแนนต่ำที่สุดเนื่องจากก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อตนเองสำหรับคุณแม่และก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย

โดยสรุป การแทรกแซงทางการแพทย์ระหว่างการคลอดนั้น มีผลสำคัญในมิติต่าง ๆ ต่อประสบการณ์การคลอดของคุณแม่ หากต้องการให้เกิดความพึงพอใจในระดับสูงในการคลอด จำเป็นต้องทราบว่ามิติใดของความพึงพอใจที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกแซง เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการที่ชัดเจน เช่น การส่งเสริมในเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้คลอดและบุคลากรทางการแพทย์ การมีส่วนร่วม และความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คุณแม่ผู้คลอดได้รับประสบการณ์การคลอดที่น่าพึงพอใจมากขึ้น

ที่มางานวิจัย: Anna Volkert, Lisa Bach, Carsten Hagenbeck, Jan Kössendrup, Charlotte Oberröhrmann, Mi-Ran Okumu, Nadine Scholten. Obstetric interventions’ effects on the birthing experience. BMC Pregnancy and Childbirth, 2024; 24 (1) DOI: 10.1186/s12884-024-06626-5

23 กรกฎาคม 2567

ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ประเทศไทย

ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567

19 กรกฎาคม 2567

“โครงการเพื่อนผู้คลอด” โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้รับรางวัลชนะเลิศสองรางวัลซ้อน “รางวัลชนะเลิศ Gold Award”ด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล และรับรางวัลที่ 1 ประเภท Clinic ในงานประชุมวิชาการการจัดการความรู้ (Share and Learn)คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2567

ขอแสดงความยินดีกับตัวแทนทีมงานห้องคลอดคุณภาพ พว. ลัดดาภรณ์ ชินทอง หน่วยห้องคลอด โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และทีมงานทุกท่านด้วยค่ะ 🥳👍😍👏

16 กรกฎาคม 2567

ที่มา: The Coverage.info (https://www.thecoverage.info/news/content/5255?fbclid=IwY2xjawE42gdleHRuA2FlbQIxMAABHbSt6u42ivLpMMfWL2bPHpixYEK6ph4uJZA2fbcRY98sJY2MKK67NLQJUQ_aem_p7qv1KIOPSQYVZc3xJkqwQ)

ทำความเข้าใจใหม่กันเสียหน่อย 

‘การผ่าคลอด’ ไม่ใช่เรื่องของความสวยความงาม (รูฟิต) หรือความพึงพอใจเสมอไป ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้เตือนออกมาเสียงดังๆ แล้วว่า ‘อันตราย’ มาก (กว่า) เมื่อเทียบกับการคลอดตามธรรมชาติ (ช่องคลอด)

งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ WHO ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 9 ประเทศในเอเชีย พบว่า การผ่าคลอด สร้างความเสี่ยง-อันตราย ต่อทารกและมารดา มากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ มากถึง 2-3 เท่า

ว่าด้วยความเป็นแม่และการคลอด เพศหญิงจึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าเพศชาย และหากเทียบเคียง 2 วิธีการคลอด ระหว่างการคลอดทางช่องคลอด กับการคลอดด้วยการผ่าตัด พบว่าวิธีหลัง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

WHO จึงส่งเสียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงทั่วโลกว่า ‘ช่วยลดปริมาณการผ่าคลอด’ หน่อยเถอะ ซึ่งจนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าก็ไม่ได้ผลสักเท่าใดนัก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า อัตราการผ่าคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์​สูงประมาณ 30-50% และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากอันตรายแล้ว การผ่าคลอดยังนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง และสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ

บรรทัดถัดจากนี้คือ FACT จากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และ The Coverage อยากชักชวนทุกท่านทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันใหม่

จากสาระสำคัญในประกาศราชวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นประกาศจุดยืน เรื่อง ‘การผ่าตัดคลอด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556)’ ซึ่งลงนามโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จำแนกออกมาเป็น 8 ประเด็นสำคัญ

1. การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง

2. ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก

3. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด

4. การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติ โดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

5. การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป

6. การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์

7. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

8. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

10 กรกฎาคม 2567

“เพื่อนผู้คลอด มีบทบาทสำคัญมากครับ เพราะจะคอยอยู่ใกล้ ๆ ให้แม่รู้สึกอบอุ่นใจ และคอยช่วยเหลือ หยิบ จับ ทำ ในสิ่งที่แม่ต้องการ เช่น คอยปลอบประโลมใจ คอยเช็ดเหงื่อ หาน้ำให้ดื่ม บีบนวดยามปวด ช่วยเอาผ้าร้อนประคบบริเวณที่ปวด คอยพยุงเมื่ออยู่ในท่าลำตัวตั้งตรงตลอดการคลอด คอยพัดโบกยามร้อน คอยเปิดเพลงเย็น ๆ ให้ฟัง

หน้าที่เหล่านี้ หากเป็นหมอหรือพยาบาลคงทำได้ไม่เต็มที่เหมือนเพื่อนผู้คลอด เพราะบางทีแม่อาจเกรงใจไม่กล้าบอกความต้องการ ซึ่งเมื่อมีเพื่อนผู้คลอดแล้ว หมอและพยาบาลจะเหนื่อยน้อยลง”

ที่มา: รศ. นพ. เอกชัย โควาวิสารัช

จากหนังสือ “คลอดแบบไหนดี คลอดเองหรือผ่าคลอด”

2 กรกฎาคม 2567

เปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการคลอดจาก “คุณจัดการเองไม่ได้ เดี่ยวฉันจัดการให้” มาเป็น “คุณจัดการเองไม่ได้ เดี๋ยวเราจะช่วยสนับสนุนคุณเพื่อให้คุณกลับมาจัดการเองได้….”

ศูนย์ Judith Lumley ของมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย ได้เสนอกรอบการรับมือกับการคลอดแบบใหม่ที่เน้นการให้อิสระในการตัดสินใจกับแม่ผู้คลอดมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากวิธีการใช้ยาไปผนวกกับแนวทางอื่น ๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น

โดยได้แบ่งกลยุทธ์เป็นแบบภายใน (สร้างขึ้นเอง) และแบบภายนอก (ต้องใช้อุปกรณ์หรือการสนับสนุน)

กลยุทธ์เป็นแบบภายใน (ที่แม่ผู้คลอดสร้างขึ้นเอง) เช่น การใช้เทคนิคการหายใจ การสร้างมุมมองเชิงบวกต่อการคลอด การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้คุณแม่สร้างแนวคิดเชิงบวก เตือนตัวเองว่าคุณแม่ไม่ได้อยู่ลำพังในประสบการณ์นี้ สงบสติอารมณ์ การเข้าใจว่ามันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ปกติ และคุณแม่แค่ต้องปล่อยให้ร่างกายดำเนินไปตามกลไกธรรมชาติเท่านั้น

ส่วนของกลยุทธ์ภายนอกนั้น ได้แก่ การใช้อุปกรณ์และวิธีการต่าง ๆ เช่น การแช่น้ำหรืออาบน้ำฝักบัว และการมีเพื่อนผู้คลอดที่คุ้นเคยเข้าไปให้กำลังใจในระหว่างที่รอคลอดและช่วงที่คลอด

การมีคนที่สามารถพึ่งพา ให้ความช่วยเหลือได้ในระหว่างที่คุณแม่อาจไม่สามารถรับมือกับความเจ็บปวดได้ดี สร้างความเชื่อมั่นว่าคุณแม่อยู่ในที่ที่ปลอดภัย รายล้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยได้หากมีปัญหา จะช่วยให้การคลอดราบรื่นมากขึ้น

Source: https://www.latrobe.edu.au/…/childbirth-coping…

24 มิถุนายน 2567

ผลการศึกษาชี้ว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงเวลาใกล้คลอด มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจในอนาคต

คุณแม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ยาวนานถึง 20 ปีหลังการคลอด

นักวิจัยชาวสวีเดนได้เผยแพร่ผลการศึกษาติดตามผู้หญิงนานกว่าทศวรรษ พบว่า ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้ารอบช่วงเวลาคลอดกับความเสี่ยงระยะยาวของโรคหัวใจและหลอดเลือด

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน European Heart Journal ได้ตรวจสอบข้อมูลของผู้หญิงเกือบ 56,000 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดระหว่างปี 2544 ถึง 2557 และเปรียบเทียบข้อมูลกับผู้หญิงเกือบ 546,000 คนที่คลอดบุตรในช่วงเวลาเดียวกันแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า

งานวิจัยได้ติดตามคุณแม่เหล่านี้โดยเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยบางรายได้รับการตรวจติดตามนานถึง 20 ปีหลังจากการวินิจฉัย พบว่า คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ประมาณ 6.4% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในระหว่างการติดตามผล เทียบกับ 3.7% ของคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า

นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 36% ในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้นพบได้ในโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว และความดันโลหิตสูง

ภาวะซึมเศร้าในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดนั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ หากคุณแม่เริ่มรู้สึกถึงภาวะนี้ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์นะคะ

Source: https://www.independent.co.uk/…/academics-swedish-mind…

20 มิถุนายน 2567

สิ่งที่คุณแม่ควรทราบก่อนผ่าคลอด

👩‍🔬การผ่าตัดคลอดอาจไม่ใช่ทางเลือกแรกในการคลอดเสมอไป

👩‍🔬การที่คุณแม่ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้ไม่ใช่ความผิดของคุณแม่

👩‍🔬การผ่าตัดคลอดไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า หรือปลอดภัยกว่าในการคลอด

👩‍🔬หลังการผ่าตัด 6 ชั่วโมง คุณแม่จะต้องพยายามขยับตัวหรือลุกขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันภาวะเลือดอุดตัน

👩‍🔬การคลอดของคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน ตามสภาพร่างกายและเงื่อนไขแวดล้อม

👩‍🔬การผ่าตัดคลอดมีไว้เพื่อช่วยชีวิตแม่และลูก และอาจมีผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา

👩‍🔬การผ่าตัดคลอดคือการผ่าตัดใหญ่ ที่ต้องอาศัยการผ่าเปิดชั้นผิวหนังเข้าไปอย่างน้อย 5 ชั้น

👩‍🔬เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทุกประเภท การผ่าคลอดอาจเพิ่ม

ความเสี่ยงและปัญหาได้ในบางกรณี

19 มิถุนายน 2567

วันนี้ขอแชร์คลิป “คลอดธรรมชาติกับผ่าคลอด แบบไหนเหมาะกับเรา?” โดย พญ.เขมณัฎฐ์ สงวนวงษ์ทอง จากช่อง PWS Clinic ค่ะ

ความแตกต่าง ข้อดี-ข้อเสีย ของการคลอดแต่ละวิธีเพิ่อที่คุณแม่จะได้ตัดสินใจเลือกแบบที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากที่สุด

17 มิถุนายน 2567

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เรื่องการลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น โดย non-clinical intervention (วิธีที่ไม่ใช่วิธีทางการแพทย์) เช่น การมีเพื่อนผู้คลอด การให้ข้อมูลความรู้อย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดอย่างมีข้อมูล การให้มีการตรวจสอบกันเองภายในโรงพยาบาลว่าเป็นการผ่าตัดคลอดที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือไม่

เพราะการผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงหลายอย่าง และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และลูกทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว การผ่าตัดแต่ละครั้งจึงควรมีการพิจารณาความเหมาะสมอย่างถี่ถ้วน

ที่มา: chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://iris.who.int/…/275377/9789241550338-eng.pdf…

13 มิถุนายน 2567

ผลวิจัยเผยการคลอดในน้ำไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงมากกว่าการคลอดปกติ โดยเฉพาะกับแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ

ในหลาย ๆ ประเทศ การคลอดในน้ำถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความสนใจจากคุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ คน แต่บางส่วนก็ยังคงมีความสงสัยอยู่ด้วยว่าจะมีความปลอดภัยเหมือนกับการคลอดแบบปกติทั่วไปหรือไม่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์ดีฟ ประเทศอังกฤษได้ทำการศึกษาการคลอดในน้ำของผู้คลอดจำนวน 73,229 คน จากโรงพยาบาลทั้งในอังกฤษและเวลล์กว่า 26 แห่งในช่วงระหว่างปี 2015 – 2022 พบว่า การคลอดในน้ำไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อทารกและแม่ผู้คลอด

โดยการศึกษานี้ได้ให้ความสำคัญที่อัตราการเกิดแผลฉีกขาดระหว่างการคลอดของแม่ ไปจนถึงจำนวนของทารกแรกคลอดที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาปฏิชีวนะ ทารกที่มีปัญหาเรื่องการหายใจ และทารกที่เสียชีวิตหลังคลอด

การศึกษาพบว่าแม่และทารกที่คลอดในน้ำ ไม่ได้มีอัตราภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สูงกว่าการคลอดแบบปกติ ดังนั้นในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ การคลอดในน้ำจึงอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณแม่สามารถพิจารณาได้ในการเลือกวิธีคลอดของตนเอง

ที่มา: https://www.theguardian.com/lifeandstyle/article/2024/jun/11/water-births-do-not-increase-risk-of-complications-study?fbclid=IwY2xjawE41TxleHRuA2FlbQIxMQABHahGoYb6ZMVsNwKNMmHkTFBGNizfHBCJEebLjPB-8wk5MJiM83sH9X_Yrg_aem_Y1Qx-HKHShSqX9tPBrMdpA

12 มิถุนายน 2567

📢 ประสบการณ์ของคุณแม่ชาวเวียดนามในการใช้ “คู่มือผู้คลอด” (DAT) ในการทำความเข้าใจเพื่อเลือกวิธีการคลอดอย่างมีข้อมูล การศึกษาจากหนึ่งในโรงพยาบาลประเทศเวียดนามที่ได้เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย)

👩‍⚕️ คุณแม่ชาวเวียดนามท่านนี้ได้ใช้ข้อมูลจากคู่มือผู้คลอด ผ่านทางแอพพลิเคชั่นชื่อ QualiDec (สามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน App Store และ Playstore) ในการตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมกับเงื่อนไขการตั้งครรภ์ของตนเอง 🌟

สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ ในหลากหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วยค่ะ📲

10 มิถุนายน 2567


ขอแสดงความยินดีกับอีกหนึ่งคู่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี หนึ่งในแปดโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการวิจัย Quali-Dec (คลอดปลอดภัย) ในประเทศไทย

คุณพ่อรัตนะ จำเริญ (RATANA CHAMROEUN) และคุณแม่กนิษฐา แซท (KANITHA SAT) เป็นคุณพ่อคุณแม่ชาวกัมพูชา ที่ได้เข้าร่วมโครงการ “เพื่อนผู้คลอด” ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นโครงการที่สนับสนุนให้คุณพ่อสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจคุณแม่ในระหว่างที่รอคลอดได้ เพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยและราบรื่น

ขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อคุณแม่ที่ได้คลอดทารกน้อยสมบูรณ์แข็งแรง และขอขอบคุณบุคลากรการแพทย์ แผนกห้องคลอด โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการเพื่อนผู้คลอดให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน

อ่านข่าวที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่